Tuesday, September 30, 2014

วันนี้ เราจะมาให้เคล็ดลับ เกี่ยวกับการนวดแก้อาการกัน แต่ก่อนอื่นต้องขออธิบาย เกี่ยวกับร่างกายของเราก่อน เพราะสำคัญมาก ถ้าอยากเรียนนวดแก้อาการ อย่างน้อย ต้องเรียนรู้ โครงสร้างของร่างกาย เส้นประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก ระบบไหลเวียนเลือด น้ำเหลือง แต่วิชาเหล่านี้สามารถศึกษาได้จากหนังสือ หรือสื่อต่างๆหมอนวดถ้าว่างก็ควรหาความรู้เพิ่มเติมด้วยนะครับ อธิบายคร่าวๆนะครับ เฉพาะเรื่องกล้ามเนื้อส่วนรายละเอียดอื่นๆไปหาอ่านเพิ่มเติมกันเอง


ตำรานวดที่เราเรียนกันเช่น นวดพื้นฐานขา เปิดประตูลมนั้นมีอะไรดีๆซ่อนอยู่มากกว่านั้นครับ คนโบราณเขาจึงเขียนเป็นตำราให้พวกเราเรียนกันจนทุกวันนี้ ถ้าเราอยากเป็นหมอนวดที่แก้อาการเก่งๆ ต้องหมั่นสังเกต เช่นนวดพื้นฐานขาในแต่ละเส้นหมอนวดขณะที่นวดต้องดูว่าเส้นที่เรานวดผิดปกติหรือไม่ แข็งเป็นลำหรือเปล่า ถ้าพบนั่นแหละครับคือสาเหตุของความเจ็บป่วย เช่นเส้นหนึ่งของขาด้านนอกเวลาเรานวดจนถึงต้นขาใกล้กับหัวตะคาก ถ้าบริเวณนี้เส้นแข็งเป็นลำ บางครั้งเป็นก้อนเลย นั่นแหละตัวปัญหาเลยทำให้ปวดขาตลอดแนว บางครั้งทำให้เดินเท้าเบี่ยงออกด้านข้างได้ ปวดเข่าบางอย่างก็มาจากตรงนี้ หมอนวดต้องพยายามนวดเส้นที่แข็งหรือเป็นก้อนนี้จนนิ่ม ก็ทำให้อาการดีขึ้นมาก เท่านี้ก็ได้ใจคนป่วยแล้ว อย่างจุดนาคบากก็เช่นเดียวกัน ถ้าคนป่วยมีอาการเดินได้ไม่นานก็เมื่อยน่อง จุดนี้ถ้ากดนาน(ถ้ากดถูก จะรุ้สึกถึงอาการ"แล่น" ของเส้น เป็นไปได้พยายามถามผู้ถูกนวดด้วยว่าแล่นหรือเปล่า ไม่ต้องอายที่จะถามครับ) นิ่งสัก10คาบลมหายใจ3-5ครั้ง แล้วนวดพื้นฐานขาตามปกติ เน้นเส้นหนึ่งและสังเกตุอย่างมี่บอกตอนต้น ก็ช่วยได้มาก หลายๆอาการของขา ก็มาจากเส้นพื้นฐานทั้งนั้น หมอนวดที่เก่งๆเพราะเขาหมั่นสังเกตและเน้นจุดที่ผิดปกติ ทำให้คนป่วยดีขึ้น





ด้วยความปรารถนาดี อ.สุวัฒน์ เชียงใหม่
สงสัยเรื่องต่างๆสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 089-191-1664
วีดีโออื่นๆ ดูได้ที่นี่ --> Thara Thai Massage Channel
ติดตาม facebook ได้ที่ --> https://www.facebook.com/TharaMassage

Tuesday, September 16, 2014

วันนี้ จะมาแนะนำ อาการอีกอาการหนึ่ง อาการนี้ห้ามนวดเด็ดขาด เพราะเป็นอันตราย บางทีหมอนวดไม่รู้ มารู้จักกันครับ
เซียนคอมฯ ระวังจะเป็น DVT (Deep Venous Thrombosis) (momypedia)
โดย: พอใจ

นั่งนาน ๆ รู้สึกปวดชาที่ขา และเท้าบวมแดง ระวังจะเป็น DVT ในโลกไฮเทคอย่างทุกวันนี้ เราคงปฏิเสธคอมพิวเตอร์ไม่ได้แล้ว แต่ระวังนะคะ มีคุณอนันต์ก็อาจมีโทษมหันต์ ถ้าใช้คอมพิวเตอร์อย่างไม่ถูกวิธี โรค DVT อาจจะถามหา

คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้ในโลกยุคใหม่ แม้แต่เด็ก ๆ คอมพิวเตอร์ก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียน นี่ยังไม่รวมวิถีชีวิตด้านอื่น ๆ อีก และด้วยเหตุนี้แหละค่ะที่ทำให้ร่างกายของเด็กได้รับผลกระทบต่างๆ ตามมาอีกมากจากการใช้คอมฯ แบบไม่รู้เท่าทัน

เพราะฉะนั้นไม่ว่าลูกเราจะตั้งใจทำงาน แช็ตคุยกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งเอาแต่เล่นเกมคอมพิวเตอร์แบบไม่วางตานั้น ต่างก็ล้วนทำให้สุขภาพย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นตาเมื่อยล้า ตาแห้ง แสบตา ตาสู้แสงไม่ได้ ตาพร่ามัว ปวดหัว ปวดเมื่อยบ่า ไหล่ คอ หรือปวดหลัง จากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ

นอกจากนี้ยังเสี่ยงกับการเป็นโรค Deep Venous Thrombosis (DVT- เส้นเลือดดำอุดตัน) หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ Economy Class Syndrome อีกต่างหาก

โรคนี้ถูกค้นพบโดยนักวิจัยที่ได้ข้อมูลมาจากชายวัย 32 ปีผู้หนึ่ง ซึ่งต้องนั่งทำงานอยู่หน้าเทอร์มินัลคอมพิวเตอร์ประมาณ 18 ชั่วโมงต่อวันมานาน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะอาการเลือดจับตัวเป็นก้อน โดยเริ่มจากบริเวณขาของเขาก่อนที่จะแตกกระจายไปยังปอดทั้งสอง จนเกิดอาการโคม่า ต้องรีบรักษาเป็นการด่วน จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายเริ่มหันมาใส่ใจกับโรคนี้กันมากขึ้น มากกว่าจะเพ่งเล็งไปที่สาเหตุ จากการนั่งเครื่องบินชั้นราคาประหยัดเป็นเวลานานๆ เหมือนก่อน

ฉะนั้นถ้าเห็นลูกคร่ำเคร่งอยู่หน้าคอมฯ นาน ๆ ก็เตือนไว้บ้างค่ะว่า ถ้าเขารู้สึกปวดชาที่ขา และเท้าบวมแดงเมื่อไหรให้รีบลุกจากเก้าอี้มายืดเส้นยืดสายทันที เพราะถ้าลูกมัวทำงานเพลินหรือเล่นเกมจนติดพัน ไม่คอยจับสังเกตอาการ และแก้ไขให้ทันท่วงที ลูกจะกลายเป็นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้ เพราะการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานหลายชั่วโมง โดยไม่ลุกหรือขยับเขยื้อนร่างกายเลย จะทำให้เลือดซึ่งเคยไหลเวียนได้สะดวกจับตัวกันเป็นลิ่มๆ และอาจไปอุดตันตามอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด หรือหัวใจ ทำให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตได้ นี่ล่ะค่ะคือความเสี่ยงที่ลูก ๆ ของเราต้องระวังไว้บ้าง

แต่ถ้าเลี่ยงการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ไม่ได้ อย่างน้อยก็ให้พยายามกระดิกนิ้วเท้าและข้อเท้า เมื่อเริ่มรู้สึกว่านั่งนานแล้ว หรือดื่มน้ำมากๆ เข้าไว้ และถ้าเป็นไปได้ควรลุกขึ้นมายืดแข้งยืดขาอย่างน้อยๆ ชั่วโมงละครั้งก็ยังดีค่ะ อ้อ...ท่าทางการนั่งที่ถูกต้องคือ นั่งลำตัวตรง ไม่ไขว้ขา จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้ด้วยค่ะ

เตือนลูก ๆ แล้ว ก็อย่าลืมเตือนตัวเองด้วยนะคะ หากคุณก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ เช่นกัน

การแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดให้โรค DVT เป็นโรคของความผิดปกติที่ค่อนข้างร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับขาส่วนล่าง ตั้งแต่หัวเข่าลงไป และจากการสำรวจพบว่าในจำนวนประชากร 1,000 คนจะมี 1 คนที่เป็นโรค DVT โดยที่อาจจะยังไม่แสดงอาการที่เด่นชัดออกมา และในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยถึง 600,000 คนที่มีอาการชัดเจนจนต้องเข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

momypedia
อาการปวด ที่มาจากความคิด

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า ผมไม่ใช่นักเขียน แต่พอดีได้ฟังจากเพื่อนซึ่งเป็นฝรั่ง บอกถึงอาการปวด ที่มาจากความคิด ซึ่งเขาอ่านจากหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ ผมเลยมาถ่ายทอดเป็นภาไทย เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ (ถ้าช่วย คอมเม้นท์หน่อย ก็จะขอบคุณมาก ว่าเขียนเป็นอย่างไร เผื่อจะเป็นนักเขียนกับเขาบ้าง555) จะพยายามใม่ให้เป็นวิชาการมากเดี๋ยวจะน่าเบื่อ 



คือเขาบอกว่าจิตของมนุษย์ที่หยุดคิดไม่ได้ เป็นจิตเหนือสำนึกซึ่งทำให้เราคิดอยู่ตลอดเวลา แล้วมันเกี่ยวอะไรกับความเจ็บปวดด้วย อ่านต่อไปครับ คือถ้าเรากังวลกับปัญหาหนึ่งนานๆเช่น หาเงินไม่พอใช้ มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ต้องส่งเสียบุตร หรือระแวงสามี หรือภรรยาจะนอกใจ หรือกังวลในสิ่งที่ยังไม่เคยเจอ เช่นต้องย้ายบ้านหรือที่ทำงานไปอยู่ที่ใหม่ หรือเจอเจ้านายที่จู้จี้ คอยจับผิดเราตลอดเวลา ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือคิดด้านลบนั่นเอง ทีนี้พอคิดซ้ำๆ ความคิดเริ่มย้ายจากจิตเหนือสำนึก เริ่มตกผลึกไปอยู่ที่จิตใต้สำนึก(เรียกว่าเริ่มเป็นนิสัย หรือนานๆก็เป็นสันดาน)ตอนนี้แหละที่ร่างกายเริ่มแสดงความเจ็บป่วยออกมา(คนละส่วนกับสาเหตุอื่นๆเช่นอิริยาบทที่ทำให้เกิดโรคนะครับ) เพราะการเจ็บป่วยจากจิต เวลาไปพบแพทย์จะไม่พบความผิดปกติใดๆของร่างกายเลย เราอาจเจอคนไข้ที่ปวดหลังเรื้อรัง มานวดหลายๆครั้งก็ไม่ดีขึ้นหรือดีขึ้นชั่วคราว แล้วก็เป็นอีกไปพบแพทย์ เอ็กซ์เรย์แล้วหมอก็บอกไม่มีอะไรผิดปกติ อาการเหล่านี้แหละครับที่ผมพูดถึง ซึ่งจะบอกว่า ถ้าคุณเป็นหมอนวดที่เก่ง ต้องเก่งในการซักถาม(หรือเป็นจิตแพทย์ในบางโอกาส)เพราะคุณมีโอกาสซักถามเป็นชั่วโมง ซึ่งทั่วๆไปเวลาไปพบแพทย์ ก็ใช้เวลาไม่นาน เอาล่ะเราจะมาอธิบายอาการปวดที่มาจากจิต

ปวดศีรษะ ปวดจี๊ดๆขึ้นหัว(ไม่ใช่ไมเกรน)บางทีอาการแบบนี้เกิดจาก ความกังวลเรื่องบุตร เจ้านายจู้จี้ ฟังเรื่องบาดหูเช่นเจ้านาย หรือพ่อตา แม่ยาย พ่อผัว แม่ผัว กระแนะกระแหนบ่อยๆ หรือถูกเบี้ยวเงิน
ปวดบ่า บางทีอาจเกิดจากสิ่งที่ต้องแบกภาระ เช่นต้องดูแลคนป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์นานๆ หรือตกงานมีภาระต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ อะไรทำนองนี้


ท้องเสียบ่อย อาจเกิดจากกลัวการเดินทางไกล กลัวห้องน้ำข้างนอกจะไม่สะอาด


ปวดหลัง อาจเกิดจากการกังวลเรื่องการทำมาหากิน เช่นค้าขายไม่ดี รายจ่ายรออยู่ข้างหน้า(บางรายอาจปวดถึงสลักเพชร)


กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง อาจเกิดจากความกังวล ที่ต้องเดินทาง กลัวห้องน้ำไม่สะอาด เลยกลั้นซะเลย


ปวดเข่า อาจเกิดจากความมี "มานะ"สูงหรืออีโก้สูง เช่นคิดว่าตัวเองไม่เคยผิด ไม่เคยขอโทษใคร คอยว่าคนอื่นว่าผิดหรือจับผิดคนอื่นตลอดเวลา


ปวดข้อเท้า หรือส้นเท้า อาจเกิดจากความกลัวอนาตดที่ต้องเผชิญ เช่นย้ายบ้าน ที่ทำงาน กลัวว่าจะแย่กว่าเดิม


ปวดแขน ข้อมือ อาจเกิดจากความระแวงในคู่ของตน เช่นกลัวไปมีกิ๊ก ซึ่งถ้าระแวงหนักอาจก่อให้เกิดเนื้องอกที่เต้านม


ฉะนั้น จงพยายามคิดบวก ให้เป็นนิสัย ถ้าคิดดีเรื่อยๆความคิดก็จะลงไปที่จิตใต้สำนึก ทำให้อาการต่างๆที่กล่าวมาหายได้เอง


ฟังมาเล่า สู่กันฟัง สนุกๆอย่าซีเรียสนะครับ




ด้วยความปรารถนาดี อ.สุวัฒน์ เชียงใหม่
สงสัยเรื่องต่างๆสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 089-191-1664
วีดีโออื่นๆ ดูได้ที่นี่ --> Thara Thai Massage Channel
ติดตาม facebook ได้ที่ --> https://www.facebook.com/TharaMassage
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
อาการนอนกรน มี 2 ประเภท คือ

1.อาการนอนกรนธรรมดา (ไม่อันตรายเพราะไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) ไม่มีผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเอง แต่จะมีผลกระทบต่อคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคู่นอน ทำให้นอนหลับยาก

2.อาการนอนกรนอันตราย (มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย) นอกจากจะมีผลกระทบต่อคนรอบข้างแล้ว ถ้าไม่รักษาอาจมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ทำให้เรียนหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ ถ้าต้องขับรถอาจเกิดอุบัติเหตุในท้องถนนได้ นอกจากนั้นจะมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคความดันโลหิตในปอดสูง โรคหลอดเลือดในสมอง

การที่จะแยกว่าท่านเป็นนอนกรนประเภทใด สามารถทำได้โดย การตรวจการนอนหลับ (sleep test)

จุดประสงค์ของการตรวจการนอนหลับ คือ

1. เพื่อแยกว่าท่านเป็น กรนธรรมดา หรือกรนอันตราย
2. ถ้าท่านเป็นกรนอันตราย การตรวจการนอนหลับจะบอกความรุนแรงของโรคได้ ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมากหรือน้อยเพียงใด และช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาท่านได้ดีขึ้น

การตรวจการนอนหลับสามารถทำได้โดย

1. นัดตรวจการนอนหลับที่โรงพยาบาล ซึ่งท่านต้องมานอนที่โรงพยาบาล 1 คืน
2. นัดตรวจการนอนหลับที่บ้าน ซึ่งจะมีความละเอียดของการตรวจน้อยกว่าการตรวจที่รพ. แต่สามารถใช้เป็นการตรวจคัดกรองได้ (screening test)

การรักษามี 2 วิธี
วิธีไม่ผ่าตัด และวิธีผ่าตัด ซึ่งท่านสามารถเลือกได้ เพราะการรักษาอาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แนะนำให้ใช้วิธีไม่ผ่าตัดก่อน ถ้าไม่ดีขึ้น,ไม่ชอบ หรือไม่สะดวก ท่านสามารถเลือกวิธีผ่าตัดได้

1. วิธีไม่ผ่าตัด

• ลดน้ำหนัก ในรายที่ท่านมีน้ำหนักเกิน โดยทั่วไปถ้าลดน้ำหนักได้ร้อยละ 10 อาการนอนกรนจะดีขึ้นประมาณร้อยละ 30 และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อบริเวณคอหอย ซึ่งจะทำให้มีการหย่อนและอุดกั้นทางเดินหายใจน้อยลง


• หลีกเลี่ยงยาชนิดที่ทำให้ง่วง เช่นยานอนหลับ, ยากล่อมประสาท, ยาแก้แพ้ชนิดง่วง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เบียร์ ไวน์ วิสกี้ เหล้า โดยเฉพาะก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้กล้ามเนื้อทางเดินหายใจส่วนบนคลายตัวมากขึ้น ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น นอกจากนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มักมีแคลอรี่สูง จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง


• หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสัมผัสควันบุหรี่ เนื่องจากจะทำให้เนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจบวม ทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น


• นอนศีรษะสูงเล็กน้อย ประมาณ 30 องศาจากแนวพื้นราบ จะช่วยลดบวมของเนื้อเยื่อในระบบทางเดินหายใจได้บ้าง และควรนอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะทำให้มีการอุดกั้นทางเดินหายใจมากขึ้น อาจทำได้โดยเอาหมอนข้างมาหนุนที่หลัง หรือใส่ลูกเทนนิสไว้ด้านหลังของเสื้อนอน ทำให้นอนหงายลำบาก


• ใช้ยาพ่นจมูก พ่นวันละครั้งก่อนนอน ซึ่งยาพ่นจมูกจะทำให้เยื่อบุจมูกยุบบวม ทำให้ทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังจะช่วยหล่อลื่น ทำให้การสะบัดตัวของเพดานอ่อนและลิ้นไก่น้อยลง ทำให้เสียงกรนเบาลงได้


• การใช้เครื่องมือที่เป่าลมเข้าไปในทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นหรือไม่อุดกั้น
ขณะนอนหลับ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) ซึ่งเป็นการรักษาอาการนอนกรนชนิดอันตรายที่ดีที่สุด ซึ่ง ควรลองใช้ในผู้ป่วยทุกราย ก่อนพิจารณาการผ่าตัดเสมอ
• ใช้ครอบฟัน (Oral Appliance) เพื่อเลื่อนขากรรไกรล่างมาทางด้านหน้า ทำให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้นขณะนอนหลับ

2. วิธีผ่าตัด มีจุดประสงค์ทำให้ขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนกว้างขึ้น ทำให้อาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับลดลง ซึ่งการผ่าตัดจะทำมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งและสาเหตุของการอุดกั้นทางเดินหายใจ การผ่าตัดไม่ได้รักษาให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจหายขาด หลังผ่าตัดอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจยังเหลืออยู่ หรือ มีโอกาสกลับมาใหม่ได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย สิ่งสำคัญ คือ

• ต้องควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี อย่าให้เพิ่ม เนื่องจากการผ่าตัดเป็นการขยายทางเดินหายใจที่แคบให้กว้างขึ้น ถ้าน้ำหนักเพิ่มหลังผ่าตัด ไขมันจะไปสะสมอยู่รอบผนังช่องคอ ทำให้กลับมาแคบใหม่ได้ ซึ่งจะทำให้อาการนอนกรน และ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับกลับมาเหมือนเดิมหรือแย่กว่าเดิมได้

• ต้องหมั่นออกกำลังกายเสมอ ให้กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนตึงตัวและกระชับ เนื่องจากหลังผ่าตัด เมื่ออายุผู้ป่วยมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนจะหย่อนยานตามอายุ ทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนกลับมาแคบใหม่ การออกกำลังกายจะช่วยให้การหย่อนยานดังกล่าวช้าลง

ในผู้ป่วยบางราย อาจต้องมาผ่าตัดซ้ำเพื่อแก้ไขทางเดินหายใจที่แคบส่วนอื่นๆ หรือใช้เครื่อง CPAP ร่วมด้วยหลังผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดของการผ่าตัด และจุดอุดกั้นทางเดินหายใจและความรุนแรงของโรค
ขอขอบคุณข้อมูลจาก women.thaza.com




ด้วยความปรารถนาดี อ.สุวัฒน์ เชียงใหม่
สงสัยเรื่องต่างๆสามารถสอบถามได้ที่เบอร์ 089-191-1664
วีดีโออื่นๆ --> Thara Thai Massage Channel
ติดตาม --> https://www.facebook.com/TharaMassage
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

บทความเรียงตามเดือน

ช่องทางติดต่อ

เกี่ยวกับผู้เขียน

© อ.สุวัฒน์ มอบ" ให้" เป็นวิทยาทาน เพื่อให้นำไปพัฒนาวิชาชีพ. Powered by Blogger.
พิมพ์ข้อความเพื่อค้นหาบทความ หรือ อาการ
search for article or syndrome

Popular Posts